พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๒
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็กายเวทนาจิตธรรมนี้เองเมื่อยังมีความยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็เท่ากับว่าเป็นบ้าน เป็นหมู่คนชายหญิง เป็นกามคุณ หรือวัตถุกามที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย แต่เมื่อได้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นสักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าเป็นเวทนา สักแต่ว่าเป็นจิต สักแต่ว่าเป็นธรรม ระงับความใส่ใจกำหนดยึดถือต่างๆ ดังกล่าว กายเวทนาจิตธรรมนี้ก็เท่ากับว่าเป็นป่า ป่ากาย ป่าเวทนา ป่าจิต ป่าธรรม
กายเวทนาจิตธรรมสักแต่ว่าเป็นธาตุ
และเมื่อได้กำหนดละลายกายเวทนาจิตธรรมลงไปว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุ ยกเอาปฐวีธาตุ ธาตุดิน เป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงก็รวมทั้ง ดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ยกเอาธาตุดินขึ้นเป็นที่ตั้ง สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน ที่เป็นแผ่นดินราบรื่นเป็นหน้ากลอง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีภูเขาเป็นต้น อันเรียกว่าป่า เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ได้สมาธิกับทั้งปัญญาที่สงบยิ่งขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ดังที่ได้แสดงแล้ว
พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่าก็ย่อมได้สุญญตาคือความว่าง ว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ว่าเป็นผู้คน ว่าเป็นวิญญาณกทรัพย์ทั้งหลายเป็นต้น และเมื่อได้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นแผ่นดินที่ราบรื่นเป็นหน้ากลอง ไม่กำหนดว่าเป็นป่า ก็ย่อมได้สุญญตาคือความว่างที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก
แต่ว่าในชั้นแรกเมื่อตั้งใจกำหนดว่าเป็นป่า แม้จะได้สุญญตาคือความว่าง ว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ว่าเป็นผู้คน แต่ก็ยังมีไม่ว่างอยู่คือยังมีป่า และเมื่อไม่กำหนดหมายว่าเป็นป่า กำหนดหมายว่า ปฐวี ปฐวี เป็นแผ่นดินที่ราบเรียบไปเป็นหน้ากลอง ก็ได้สุญญตาคือความว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นป่า ว่างจากป่า แต่ก็มาเหลือไม่ว่างอยู่ คือเหลือเป็นแผ่นดินที่ราบเรียบเป็นหน้ากลองนั้น
สุญญตาข้อที่ ๓
เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ไม่กำหนดหมายว่าเป็นแผ่นดิน แต่ใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่กำหนดหมายว่าเป็นป่า ไม่กำหนดหมายว่าเป็นแผ่นดิน ความใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นอากาศไม่มีที่สุดนี้ ก็คือเป็นช่องว่างไม่มีที่สุด คือเป็นช่องว่างไปทั้งหมด ว่างจากแผ่นดิน หรือจะกล่าวว่าว่างจากปฐวีคือแผ่นดิน อาโปคือแผ่นน้ำ เตโชคือไฟ วาโยคือลม ว่างจากดิน จากน้ำ จากไฟ จากลม ทั้งหมด มาเป็นอากาศคือเป็นช่องว่าง ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม ทั้งหมด ความใส่ใจกำหนดลงไปว่าอากาศคือช่องว่างดั่งนี้ ย่อมจะทำให้จิตสงบตั้งมั่น ละเอียดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือว่างไปทั้งหมด
จิตที่กำหนดว่าอากาศไม่มีที่สุดคือเป็นช่องว่างไปทั้งหมดดั่งนี้ ย่อมห่างไกลจากวัตถุอันจะดึงจิตใจให้ยึดถือยิ่งขึ้น ... ( จบ ๑/๒ ) (ข้อความขาดไปนิดหน่อย) ( เริ่ม ๒/๑ ) ...ก็ย่อมมีต้นไม้มีภูเขา มีห้วยหนองคลองบึงเป็นต้น อันรวมเรียกว่าเป็นป่านั้น ใจก็จะน้อมไปสู่ป่า และเมื่อใจน้อมไปสู่ป่าอีกขั้นหนึ่งก็น้อมไปสู่บ้าน เป็นบ้านเป็นหมู่คน เมื่อใจเข้าบ้านใจเข้าหมู่คน กามและอกุศลธรรมทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นได้ง่าย
ฉะนั้น เมื่อได้หัดกำหนดให้ละเอียดขึ้นโดยลำดับ มากำหนดว่าเป็นป่า มากำหนดว่าเป็นแผ่นดิน จึงเพื่อที่จะให้ความกำหนดของจิตนี้ ห่างไกลจากวัตถุซึ่งเป็นเครื่องดึงไปสู่นิวรณ์ คือกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ให้ห่างไกลยิ่งขึ้น จึงได้ตรัสสอนให้ไม่กำหนดว่าเป็นแผ่นดิน มากำหนดว่าเป็นอากาศคือเป็นช่องว่าง ว่างไปทั้งหมดไม่มีที่สุด ไม่มีแผ่นดิน ไม่มีป่า เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้สุญญตาคือความว่าง ว่างจากป่า ว่างจากแผ่นดิน แต่ว่าก็ยังมีความไม่ว่างคือยังมีอากาศนั้นเอง ช่องว่างไม่มีที่สุดนั้นเองยังเป็น อสุญญตา คือเป็นความไม่ว่างอยู่
สุญญตาข้อที่ ๔
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนยิ่งขึ้นไปอีก ให้ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่า ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นแผ่นดิน ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นอากาศคือเป็นช่องว่าง ว่างไม่มีที่สุด ว่างไปหมด มาใส่ใจกำหนดว่าวิญญาณไม่มีที่สุด
อันวิญญาณนั้นกล่าวเข้าใจง่ายๆ ก็คือตัวรู้ หรือความรู้ วิญญาณที่ตรัสแสดงไว้ในที่ต่างๆ เช่นวิญญาณในธาตุ ๖ ได้แก่ธาตุรู้ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้วิญญาณในขันธ์ ๕ ได้แก่รู้เห็น รู้ได้ยิน เป็นต้น ในเมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอก มีตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้นมาประจวบกัน ก็เห็น ก็ได้ยิน
อันการเห็นการได้ยินนั้นก็คือตัวความรู้อย่างหนึ่งนั้นเอง เห็นก็คือรู้เห็น ได้ยินก็คือรู้ได้ยิน เป็นความรู้ของวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ที่รู้ทางอายตนะ เพราะฉะนั้นในที่นี้วิญญาณจึงหมายถึงตัววิญาณธาตุ คือธาตุรู้ นั้นเองก็ได้ หมายถึงความรู้ของวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นั้น ซึ่งรู้ทางอายตนะ อันมีลักษณะเป็นเห็นเป็นได้ยิน ดังกล่าวเป็นต้นนั้นก็ได้ แต่เพื่อให้รวบรัดก็แสดงว่า ความรู้ หรือตัวรู้ ความรู้หรือตัวรู้ไม่มีที่สุด
อันอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สุด คือว่างไปทั้งหมดนั้น ก็จะพึงกล่าวได้ว่าเป็นความว่างในภายนอก คราวนี้จึงไม่ใส่ใจกำหนดถึงตัวความว่างซึ่งเป็นภายนอกนั้น มากำหนดตัวความรู้ในภายในว่าไม่มีที่สุด เพราะว่าอันความว่างหรือช่องว่างไม่มีที่สุดอันเป็นภายนอกนั้น ก็เพราะมีตัวรู้หรือมีความรู้ อันกำหนดอยู่ในช่องว่างอันไม่มีที่สุดนั้นเอง ถ้าไม่มีตัวรู้ หรือไม่มีความรู้ซึ่งเป็นภายในแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น
แม้ว่าจะมีทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างในภายนอก จะมีป่าจะมีแผ่นดิน ตลอดจนถึงมีอากาศคือช่องว่าง แต่ว่าถ้าไม่มีวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นตัวรู้ เป็นความรู้ ของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว ก็รู้อะไรไม่ได้ทั้งนั้น แต่ว่าที่รู้อะไรได้นั้นก็เพราะมีธาตุรู้ มีตัวรู้ มีความรู้อยู่ จึงรู้อะไรๆ ได้ และเมื่อธาตุรู้ หรือตัวรู้ หรือความรู้มากำหนดอากาศคือช่องว่าง ว่าไม่มีที่สุด คือเป็นช่องว่างไปทั้งหมด จึงรู้ รู้ว่าเป็นช่องว่างไปทั้งหมดไม่มีที่สุด ฉะนั้นจึงไม่กำหนดสิ่งที่รู้ คืออากาศนั้น มากำหนดตัวความรู้ข้างใน คือนำสติมากำหนดตัวรู้ความรู้ซึ่งเป็นภายในนี้ ไม่กำหนดสิ่งที่รู้คืออากาศ มากำหนดตัวความรู้ หรือตัวรู้ ซึ่งตั้งอยู่ในภายใน
และแม้ตัวรู้ หรือความรู้นี้ก็ไม่มีที่สุดเช่นเดียวกันกับอากาศที่ไม่มีที่สุด เพราะมีตัวรู้ หรือมีความรู้ที่ไม่มีที่สุด จึงกำหนดอากาศคือช่องว่างว่าไม่มีที่สุดได้
อากาศคือช่องว่างที่ไม่มีที่สุดนั้น จะรู้ได้ก็เพราะมีตัวรู้ หรือมีธาตุรู้ มีความรู้ ที่ครอบคลุมอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สุดนั้น เพราะฉะนั้น แม้ตัวความรู้ก็เป็นสิ่งไม่มีที่สุดเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับอากาศที่ไม่มีที่สุด เมื่อเป็นดั่งนี้ ความใส่ใจกำหนดจึงน้อมเข้ามาถึงตัวรู้ หรือธาตุรู้ ความรู้ที่เป็นภายใน ว่าไม่มีที่สุด ดั่งนี้ก็เป็นสมาธิจิตอันประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ หรือปัญญาซึ่งเป็นตัวรอบรู้ที่สูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง
สุญญตาข้อที่ ๕
เมื่อกำหนดได้ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้สุญญตาคือความว่าง ว่างจากบ้าน ผู้คน ว่างจากป่า ว่างจากแผ่นดิน ว่างจากอากาศไม่มีที่สุด แต่ว่าก็ยังมีความไม่ว่าง คือตัววิญญาณ คือตัวรู้หรือธาตุรู้นั้นเอง เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ไม่ใส่ใจกำหนด แม้ว่าวิญญาณ ธาตุรู้ ตัวรู้ หรือความรู้ไม่มีที่สุด มากำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี ความกำหนดดั่งนี้ เป็นความกำหนดที่ทำให้ไม่มีกังวลห่วงใย
เพราะว่าเมื่อเพ่งดูเข้าไปในอากาศที่ไม่มีที่สุดก็ดี ในตัวรู้ ธาตุรู้ หรือความรู้ที่ไม่มีที่สุดก็ดี ย่อมไม่พบว่ามีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ไม่มีแผ่นดิน แผ่นน้ำ ลม ไฟ อันเป็นวัตถุแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ไม่มีป่าแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ไม่มีบ้านไม่มีผู้คนแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นอากาศคือช่องว่าง ว่างไปทั้งหมดและแม้อากาศคือช่องว่างนั้นก็ไม่มีอีกเหมือนกัน เพราะว่ามีแต่ตัวธาตุรู้ หรือตัวรู้ หรือความรู้ อันไม่มีที่สุด และแม้ตัวธาตุรู้ ความรู้ ตัวรู้ นั้นก็ไม่มีอีกเหมือนกันเพราะเป็นความว่าง อะไรสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี
เมื่อกำหนดเข้ามาถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันว่าได้ความว่างอันเรียกว่าสุญญตา คือความว่าง ว่างจากบ้าน ว่างจากผู้คน ว่างจากป่า ว่างจากแผ่นดิน ว่างจากอากาศที่ไม่มีที่สุด ว่างจากวิญญาณที่ไม่มีที่สุด
แต่ว่าก็ยังมีไม่ว่างอยู่ที่ว่าอารมณ์ที่ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอน ให้ไม่กำหนดอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น มาตั้งทำความสงบอยู่ในภายใน ไม่ต้องกำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี เพราะความกำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น ก็ยังเป็นตัวอารมณ์ อารมณ์ที่กำหนด
สุญญตาข้อที่ ๖
เพราะฉะนั้นจึงไม่กำหนดอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น มากำหนดตั้งสงบอยู่ในภายใน ความสงบที่ตั้งอยู่ในภายในนี้ก็ละเอียดประณีต ไม่มีอารมณ์ว่ารูป ไม่มีอารมณ์ว่าเสียง ไม่มีอารมณ์ว่ากลิ่น ไม่มีอารมณ์ว่ารส ไม่มีอารมณ์ว่าโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง
และยังมีธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะเป็นที่ตั้งอยู่เป็นอย่างละเอียด ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นอาการของจิตที่เป็นสัญญาคือความกำหนดหมาย จึงสงบลงไปเป็นส่วนมาก ไม่มีรูปสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นรูป สัทสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นเสียง ฆานสัญญาความกำหนดหมายว่าเป็นกลิ่น รสสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นรส โผฏฐัพพะสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และตลอดจนถึงธรรมสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นธรรมารมณ์ อย่างหยาบก็ไม่มี เป็นอย่างละเอียด สำหรับเป็นที่หมายอยู่ ตั้งอยู่ในจิตใจ
และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเรียกว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็คือว่า ไม่มีรูปสัญญา สัทสัญญาเป็นต้น ไม่มีก็ไม่ใช่คือว่ายังมีอยู่แต่ว่าน้อย ละเอียดมากเป็นธรรมสัญญาอย่างละเอียดที่กำหนดอยู่ เมื่อกำหนดถึงขั้นที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็เป็นอันว่าได้สุญญตาคือความว่างมาโดยลำดับ ว่างจากบ้าน ว่างจากผู้คน ว่างจากป่า ว่างจากปฐวีแผ่นดิน ว่างจากอากาศ ว่างจากวิญญาณ ว่างจากอารมณ์ที่ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง มาตั้งสงบอยู่ในภายใน เหมือนอย่างไม่มีสัญญาอะไร
แต่ว่าก็มีสัญญา คือความที่กำหนดหมายอยู่ดั่งนี้ อันเป็นตัวสัญญาความกำหนดหมาย กำหนดหมายอยู่ว่าไม่มีอะไร ตั้งสงบอยู่ในภายใน ก็เป็นความว่างที่ตรัสสอนอีกชั้นหนึ่ง
เพราะฉะนั้นตามที่ตรัสสอนไว้นี้ เป็นการตรัสสอนให้ฝึกหัดปฏิบัติทำสมาธิ พร้อมทั้งได้ปัญญาคือความรู้ไปด้วยกัน จิตก็ได้สมาธิที่เป็นตัวความสงบตั้งมั่น และได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ และเมื่อละเอียดยิ่งขึ้นสติก็ตื่นสว่างโพลงยิ่งขึ้น ปัญญาก็รู้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น จิตก็ตั้งมั่นสงบ และผ่องใสแจ่มใสยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ปราศจากนิวรณ์ทั้งหลาย เป็นความสว่างโพลง เป็นความตื่น เป็นความผ่องใสใจอยู่ภายใน เป็นความตั้งมั่นสงบอยู่ในภายใน ยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติทางสติปัฏฐาน กายเวทนาจิตธรรมมาโดยลำดับนั้นเอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น