วิธีฟังธรรม
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ต้องอาศัยมีจิตบริสุทธิ์ คือจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ จึงจะได้ปัญญา อันเป็นความรู้ความเห็นที่ถูกต้องแจ่มใส ในธรรมะที่เป็นสัจจะคือเป็นตัวความจริง และจะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น จึงจะได้ปัญญาในธรรม คือสัจจะที่เป็นตัวความจริง แม้ตั้งแต่ในขั้นสัจจะสามัญ จนถึงในอริยสัจจ์
การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็เป็นการปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรมทุกข้อทุกบท กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือจะต้องมีสุญญตาคือความว่าง จากกิเลสและกองทุกข์ไปโดยลำดับ ตั้งแต่ในขั้นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนา
เป็นขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา เพื่อวิมุติดังกล่าว และก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการทรงสอนให้ปฏิบัติในสุญญตาวิหารนั้นเอง
วิธีฟังธรรม
และยังได้ทรงสั่งสอนถึงวิธีฟังธรรมของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสสอนไว้ในท้ายพระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตานี้มีความว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ติดตามผูกพันเราตถาคต เพื่อที่จะได้ฟังธรรมในแง่ของพระสูตรเป็นต้น ซึ่งเป็นทางปริยัติ คือเพื่อที่จะได้ทรงจำทำความเข้าใจเท่านั้น เพราะว่าการฟังมุ่งเพียงที่จะจดจำทำความเข้าใจ บรรดาสาวกทั้งหลายก็ย่อมจะได้ฟัง ได้จดจำ ได้ทำความเข้าใจกันมาแล้ว
ฉะนั้น หากว่าจะติดตามผูกพันพระองค์เพื่อฟังธรรม ก็ให้ฟังเพื่อที่จะได้เป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด เพื่อที่จะให้เป็นที่เที่ยวไปของใจอย่างสบาย คือปล่อยใจให้เที่ยวไปในธรรมที่ฟังอย่างสบายๆ เพื่อที่จะได้บังเกิดความหน่ายความสิ้นติดใจยินดี เพื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อความรู้พร้อม เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อที่จะดับกิเลส หรือถอนตัณหาออกจากจิต ขอให้มุ่งฟังธรรมเพื่อผลดังกล่าว
และเมื่อมุ่งฟังธรรมเพื่อผลดังกล่าวนี้ ก็ไม่ต้องกังวลในอันที่จะจดจำถ้อยคำสำนวนของธรรมะที่ฟัง ไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งใจจดจำหัวข้อของธรรมต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นการฟังทางปริยัติเท่านั้น เพราะว่าการฟังเพื่อมุ่งทางปริยัติมุ่งจดจำถ้อยคำสำนวน จดจำถึงลักษณะของธรรมะที่แสดงเป็นร้อยแก้วบ้าง เป็นร้อยกรองบ้าง และเป็นลักษณะอื่นๆ ซึ่งจะเป็นภาระต้องกำหนดจดจำศัพท์แสงถ้อยคำสำนวนต่างๆ จะเป็นบางคำบางประโยค หรือจะเป็นทั้งตอนๆ ก็ตาม และเมื่อมุ่งอย่างนี้ ก็จะเป็นภาระที่จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง จึงเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
และแม้ว่าจะจำได้ จะเข้าใจ จำได้เป็นตอนๆ จำได้เป็นหมวดเป็นหมู่ของธรรมที่สั่งสอน เป็นร้อยแก้วบ้าง เป็นร้อยกรองบ้าง สวดได้พูดทบทวนได้ ถ้าเพียงเท่านี้ก็ได้ผลเพียงเป็นแค่จำๆ เป็นทางปริยัติเท่านั้น ไม่ได้ผลในทางขัดเกลากิเลส ไม่ได้ผลในด้านเป็นที่เที่ยวไปของใจอย่างสบาย เพราะว่าใจเที่ยวไปไม่สบาย เกี่ยวกับจะต้องจดจำ จะต้องแบก จะต้องหาม บทตอน วรรค หรือประเภทของธรรมะที่แสดงนั้นๆ ก็เรียกว่าใจท่องเที่ยวไปไม่สบาย หนัก คือฟังธรรมแล้วหนัก ไม่เบาไม่โปร่ง ไม่คล่องใจ ไม่แจ่มใส และไม่ได้เกิดความหน่าย ความสิ้นติดใจยินดี ความดับกิเลส ดับทุกข์อย่างไร
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนไม่ให้ผูกพันพระองค์ ติดตามพระองค์ เพื่อจะฟังธรรมเพียงในทางปริยัติดังกล่าวนั้น แต่ว่าให้มุ่งเพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลสในจิตใจ ธรรมะที่ทรงแสดงทุกข้อทุกบท จะเป็นร้อยแก้วก็ตาม ร้อยกรองก็ตาม จะเป็นลักษณะของถ้อยคำอย่างไรก็ตาม ก็มุ่งเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อฟังก็นำเข้ามาขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่เพิ่มกิเลสให้แก่จิตใจเพราะฟังธรรม
แม้ว่าบางคำบางประโยคจะฟังไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์ มีแสง มีถ้อยคำ มีสำนวน ที่ไม่เข้าใจ หรือว่าบางคราวจิตใจเองไม่ตั้งเพื่อที่จะฟัง ฟุ้งซ่านไปเสียในเรื่องอื่น กระแสของธรรมที่ฟังก็ขาดตอนไป เมื่อเป็นดั่งนี้ก็แล้วไป ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ หรือว่าที่จิตใจไม่ตั้งเพื่อจะฟัง กระแสของธรรมขาดไปบ้าง ก็ขาดไป ก็กลับมาตั้งใจฟังต่อไป เอาแต่ที่เข้าใจ
และที่เข้าใจนั้นก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเข้าใจเพื่อจะจำ แต่เข้าใจเพื่อที่จะได้เอามาใส่ใจขัดเกลาใจ เอาเพียงเท่านี้ก็ใช้ได้ เพราะว่า ธรรมะที่ต้องขาดกระแสไปบางตอน เพราะไม่เข้าใจ หรือเพราะว่าใจไม่ตั้งที่จะฟังก็ตาม ก็แล้วไป
เพราะว่าแม้ธรรมะที่ตั้งใจฟังและที่รู้เรื่อง ก็เพียงพอที่จะนำเข้ามาใส่ใจปฏิบัติขัดเกลาได้ คอยดับความไม่พอใจ ดับอารมณ์ที่เป็นนิวรณ์ที่เข้ามา หรือที่ดึงใจออกไป ให้ใจตั้งสงบ ได้ฟังธรรมะที่เข้าใจสักคำเดียวสักประโยคเดียว เช่นสติปัฏฐานเข้าใจ ว่าให้พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม คือดับความยินดีดับความยินร้าย ก็คอยดับความยินดีดับความยินร้าย ทำใจให้สงบ สงบเข้ามาในภายใน นำเอาสติมาตั้งอยู่ในใจ นำเอาขันติมาตั้งอยู่ในใจ นำเอาเมตตามาตั้งอยู่ในใจ คอยขัดเกลาใจ
เพราะว่าสตินั้นก็ตรงกันข้ามกับความหลงลืม หลงลืมสติ ก็คอยตั้งสติอย่าให้หลงลืม และไม่ต้องหลงลืมในเรื่องอะไร ก็หลงลืมในเรื่องของกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เช่นในปัจจุบันก็กำลังฟังธรรม ก็อย่าหลงการฟัง คอยตั้งจิตรับฟัง ก็จะต้องรู้จักธรรมะที่ฟัง น้อยหรือมาก ก็นำเอาธรรมะที่ฟังนั้นมา ดังท่านว่าสติ ก็คอยทำสติอย่าให้หลงสติ กำลังฟังธรรมอยู่ก็อย่าให้หลงธรรมที่ฟัง ให้สติตั้งฟัง
และท่านว่าเมตตาดับโทสะพยาบาท ก็เอามาดับโทสะพยาบาทในใจ กรุณาดับวิหิงสา ก็นำเข้ามาดับวิหิงสาในใจ กำลังคิดจะเบียดเบียนใครอย่างไรก็ดับเสีย หยุดเสีย มุทิตาดับริษยา กำลังริษยาอะไรใคร ก็ดับริษยาเสีย อุเบกขาดับราคะ ปฏิฆะ ยินดียินร้าย ก็ดับยินดียินร้ายเสีย วางเสีย นำเข้ามาขัดเกลาใจดั่งนี้
นี่แหละเป็นการที่ฟังธรรมเพื่อที่จะขัดเกลา และก็ปล่อยให้ใจเที่ยวไปตามสบายในธรรมที่ฟัง และวิธีที่จะให้ใจเที่ยวไปตามสบายในธรรมที่ฟังนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ต้องไปกังวลในถ้อยคำในสำนวนที่ไม่เข้าใจ ไม่ต้องไปกังวลในกระแสธรรมที่ขาดตอนไปบ้าง เพราะว่าใจไม่ตั้งจะฟัง เอาแต่ที่ฟังเข้าใจ และพยายามที่จะประคองใจให้ตั้งฟัง
ไม่ต้องไปเป็นภาระจะต้องจดจำถ้อยคำ จะต้องไปโกรธศัพท์แสงที่ฟังไม่เข้าใจ เอาที่เข้าใจและที่ฟังได้ก็เพียงพอแล้ว คอยขัดเกลาใจ
และปล่อยใจให้ฟังอย่างสบายๆ เที่ยวไปอย่างสบายๆ ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะฟัง ให้ฟังสบาย ให้ใจเที่ยวไปสบาย แล้วก็คอยขัดเกลาใจอยู่ดังกล่าวมาแล้ว ก็ยิ่งสบายขึ้น เพราะว่าใจที่ขัดเกลาไปนั้นจะเป็นใจที่เกษมที่ปลอดโปร่งยิ่งขึ้นทุกที ก็จะสบายขึ้นทุกที และฟังธรรมที่ส่งเข้ามาสู่ใจก็ล้วนแต่เป็นเครื่องขัดเกลาทั้งนั้น ก็ยิ่งจะสบายมากขึ้น ส่งใจไปตามสบาย ไม่ให้เป็นภาระในการฟัง
ดั่งนี้ เรียกว่าให้ธรรมะที่ฟังนั้นเป็นที่เที่ยวไปของใจอย่างสบาย แล้วก็ให้เป็นไปเพื่อที่จะหน่าย หน่ายในสิ่งที่ติดที่ยินดีอันเป็นตัวกิเลส อันเป็นตัวก่อทุกข์ ให้จิตผ่อนคลายความติดใจยินดีในสิ่งที่ไม่ควรติดใจยินดีทั้งหลาย ให้ดับกิเลสและกองทุกข์ในใจลงไปได้ นี้เป็นใจความที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนให้ฟังธรรมอย่างนี้ เป็นวิธีฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้
อุปัทวะอันตรายของอาจารย์
และได้ตรัสแสดงถึงอุปัทวะอันตรายของบุคคลผู้เป็นอาจารย์ อุปัทวะอันตรายของบุคคลผู้เป็นอันเตวาสิกคือของศิษย์ อุปัทวะอันตรายของบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติประเสริฐ โดยที่ได้ตรัสชี้แจงว่า
อาจารย์บางพวกมุ่งปฏิบัติธรรมะเพื่อดับกิเลสก็เข้าป่า ตั้งใจปฏิบัติต่างๆ แต่ต่อมาเมื่อมีประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะนับถือ และไปมาหาสู่มากขึ้นๆ อาจารย์นั้นเองก็เลยกลายมาเป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ด้วยบรรดาแขกเหรื่อที่มาหาเหล่านั้น และก็ทำให้กิเลสที่ตั้งใจจะละกำเริบมากขึ้น กิเลสนั้นเองก็เลยฆ่าอาจารย์
ผู้ที่มุ่งปฏิบัตินั้นให้เสียไป ไม่ได้รับผลเป็นความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้ ดั่งนี้เรียกว่าอุปัทวะอันตรายของอาจารย์
อุปัทวะอันตรายของอันเตวาสิก
อุปัทวะอันตรายของอันเตวาสิกคือศิษย์นั้นเล่า ก็เช่นเดียวกัน อันเตวาสิกคือศิษย์ของอาจารย์บางท่านก็เข้าป่าปฏิบัติธรรมะ เพื่อที่จะละกิเลสและกองทุกข์ ต่อมาก็มีประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะนับถือไปมาหาสู่มากขึ้นๆ บรรดาอันเตวาสิกคือศิษย์นั้นก็เลยหมกมุ่นอยู่กับบรรดาแขกเหรื่อทั้งหลาย กิเลสที่จะทำให้สงบก็กลับฟุ้งกำเริบมากขึ้น กิเลสนั้นเองก็เลยฆ่าเอาอันเตวาสิก หรือศิษย์นั้นให้เสียไปอีก ไม่สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้
อุปัทวะอันตรายของพรหมจารีย์
อุปัทวะอันตรายของพรหมจารีย์ คือผู้ประพฤติประเสริฐ ผู้ประพฤติธรรม นั้นก็คือว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก แม้จะมีประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะไปมาหาสู่ (เริ่ม 5/2) ด้วยความเคารพนับถือยกย่องบูชาต่างๆ ก็ทำให้สาวกบางพวกนั้น กลับมาหมกมุ่นอยู่ด้วยบรรดาผู้ที่ไปหา และในลาภผลในสักการะบูชาทั้งหลาย ก็ก่อกิเลสให้บังเกิดขึ้น และกิเลสนั้นก็กลับทำลายสาวกเช่นนั้นให้เสียไปอีก ทำให้ไม่ได้บรรลุความสิ้นทุกข์สิ้นกิเลสตามที่ต้องการ
และก็ตรัสเปรียบเทียบไว้ว่าใน ๓ จำพวกนี้ จำพวกหลังคือบรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าเองที่แม้เข้าป่าแล้วก็กลับเสียไป เพราะความเคารพบูชาของบรรดาประชาชนที่เข้าไปหา ทำให้กิเลสกำเริบ จำพวกนี้มีโทษแรงกว่า
และก็ตรัสสอนต่อไปว่า ขออย่าให้บรรดาท่านทั้งหลายเรียกร้องพระองค์ โดยความเป็นศัตรู แต่ขอให้เรียกร้องพระองค์โดยความเป็นมิตร ก็ตรัสอธิบายว่า ทำอย่างไรจึงเรียกว่าเรียกร้องพระองค์โดยความเป็นศัตรู คือบรรดาผู้ที่ฟังธรรมของพระองค์ จะเป็นบรรพชิตก็ตาม จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ไม่ตั้งใจฟัง ส่งใจไปในที่อื่น และประพฤติตนออกนอกศาสนาคือคำสั่งสอนของพระองค์ ดั่งนี้ ทรงเรียกว่าเรียกร้องพระองค์โดยความเป็นศัตรู
ส่วนบรรดาสาวกทั้งหลายเมื่อพระองค์ทรงสั่งสอน ว่าข้อนี้เป็นไปเพื่อเกื้อกูล ข้อนี้เป็นไปเพื่อสุขเป็นต้น ก็ตั้งใจฟัง ไม่ส่งใจออกไปนอกธรรมะที่ทรงแสดง และไม่ประพฤติตนออกนอกจากศาสนา คือคำสั่งสอนของพระองค์ ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ ดั่งนี้ เรียกว่าเรียกร้องพระองค์โดยความเป็นมิตร
และพระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า พระองค์ไม่ทรงประคับประคองท่านทั้งหลาย คือสาวกทั้งหลาย เหมือนอย่างนายช่างปั้นหม้อที่ต้องประคับประคองหม้อดินดิบที่ปั้นใหม่ ซึ่งกำลังเป็นดินดิบอยู่ แต่ว่าพระองค์นั้นได้ตรัสข่มสกัดกั้น ได้ตรัสส่งเสริม ดั่งนี้ คือบุคคลที่ควรข่ม ที่ควรสกัดกั้นไว้ ก็ตรัสข่ม ตรัสสกัดกั้น บุคคลที่ควรที่จะส่งเสริม ก็ตรัสส่งเสริม ดั่งนี้ และก็ตรัสว่าบุคคลใดเป็นสาระคือแก่นสาร หรือว่ามีสาระคือแก่นสาร บุคคลนั้นจักตั้งอยู่ ดั่งนี้
ผู้ปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องคอยตรวจตราดูสาระคือแก่นสารในตนเอง ดูความคิดความเห็น ความประพฤติการกระทำต่างๆ ของตนทางกายทางวาจาทางใจ ว่าเป็นสาระ หรือไม่เป็นสาระแก่นสารอย่างไร ถ้าไม่เป็นสาระแก่นสารก็ต้องละเสีย
และเมื่อทำพูดคิดอะไรไม่เป็นสาระแก่นสาร นั่นแหละเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงข่มสกัดกั้น ไม่ทรงประคับประคอง และตนเองก็ต้องคอยข่มสกัดกั้นตนเอง ไม่ให้ไปยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารนั้น ให้ว่างจากความไม่เป็นสาระแก่นสาร
การปฏิบัติสุญญตาที่ถูกต้อง
อันนี้แหละเป็นสุญญตาที่ถูกต้อง ว่างจากความไม่เป็นสาระแก่นสาร ว่างจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร และสิ่งใดที่เป็นสาระแก่นสารก็ถือเอาไว้ปฏิบัติ อย่าให้ว่าง อย่าให้ว่างจากสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร แต่ให้ว่างจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ส่วนสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารนั้นอย่าให้ว่าง ให้มีอยู่
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติสุญญตานั้น จึงไม่ใช่หมายความว่าทีแรกก็ให้ว่างกันไปเสียหมด ไม่ต้องมีอะไรจะยึดถือทั้งนั้น ในการปฏิบัติสามัญทั่วไปนั้น จึงต้องให้ว่างจากความไม่ดี ความชั่ว แต่ว่าให้มีความดี อย่าให้ว่างจากความดี ให้มีความดีที่จะปฏิบัติยิ่งขึ้นต่อไป และเมื่อสุดชั่วก็สุดดี คือเป็นพระอรหันต์นั่นแหละจึงเป็นอันว่าว่างหมดกันเสียทีหนึ่ง ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะต้องทิ้งไม่ดี ยึดดีไว้ ว่างจากสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่างจากสิ่งที่ดี ปฏิบัติเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ซึ่งถึงเป็นพระอรหันต์เมื่อไรก็เป็นอันว่าว่างหมดทั้งดีทั้งชั่ว
เพราะฉะนั้น เมื่อตนยังไม่ถึงขั้นถึงตอนที่จะไปว่างหมด คิดว่าจะว่างหมด สุญญตาหมด ก็เป็นการคิดผิด ปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ขั้นของธรรมะที่ปฏิบัตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความเข้าใจ และเมื่อปฏิบัติถูกต้องดั่งนี้ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น