วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อานิสงส์กฐินทาน



อานิสงส์กฐินทาน

......ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอุบัติในโลก มีบุรุษเข็ญใจไร้ญาติพี่น้องทั้งทรัพย์
สินเงินทองก็ขาดแคลนอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ในเมืองพาราณสี ไปหาสิริธรรมมหาเศรษฐีมีทรัพย์
๘๐ โกฏิ แล้ววิงวอนขออยู่เป็นลูกจ้าง ท่านเศรษฐีมีความสงสารจึงถามว่ามีความรู้อะไรบ้าง บุรุษเข็ญ
ใจบอกว่า ข้าพเจ้าไม่มีความรู้อะไรเลย มีแต่กำลังกายเท่านั้นท่านเศรษฐีกล่าวว่าถ้าเช่นนั้นเจ้าจง
ไปรักษาหญ้าเราจะให้ข้าววันละหม้อ

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บุรุษก็รักษาหญ้าจนมีชื่อว่า ติณณปาละ อยู่มาวันหนึ่ง ติณณปาละมาคิดว่าตัวเรานี้ ในชาติปางก่อนคงจะไม่ได้ทำบุญกุศลอันใดไว้เลย มาถึงชาติ นี้เราจึงได้ลำบากยากแค้น แม้แต่อาหารจะรับประทานไปวันหนึ่งๆ ก็ทั้งยาก แต่นี้ต่อไปเราจะต้องขวนขวายให้ทานทุก ๆ วัน เมื่อมีความตั้งใจอย่างนี้แล้ว ก็แบ่งอาหารออกเป็น ๒ ส่วน ๆ หนึ่ง ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งไว้บริโภคเองทำอย่างนี้มาตลอดทุก ๆ วันมิได้ขาดด้วยอำนาจบุญกุศล ที่ติณณปาละทำนั้น ก็ทราบไปถึงสิริธรรมเศรษฐีผู้เป็นนายจ้างจึงสั่งให้เพิ่มอาหารขึ้นอีกเป็น ๓ ส่วน
ติณณปาละก็แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่งให้แก่ยาจก อีกส่วน
ตนเก็บไว้บริโภค ทำอยู่อย่างนี้เป็นลำดับมา

จนถึงฤดูออกพรรษาประชาชนและท่านสิริธรรมเศรษฐีได้พากันทำกฐินทานเพื่อจะถวายแก่ภิกษุสงส์ ผู้อยู่จำพรรษาด้านไตรมาส สามเดือน ติณณปาละได้ทราบ ข่าวดังนี้แล้วก็เข้าไปหาสิริธรรมเศรษฐีถามถึง
อานิสงส์ผลของกฐินทานว่าการถวายทานอย่างนี้ คงจะมี ผลเป็นอันมาก เพราะประชาชนไม่นิ่งนอนใจ ช่วยกันหลายคนเศรษฐีบอกถึงคุณานุภาพ ของกฐินทานโดยละเอียดจนติณณปาละเกิดศรัทธาแก่กล้า ก็ถามว่าอีกเมื่อไรจะถึงกำหนดถวาย เศรษฐีบอกว่าอีก ๗ วัน

ติณณปาละก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตนก็คิดว่าจะนำของไปเห็นวัตถุทานก็ไม่มี เห็นอยู่แต่ผ้านุ่งผืน
เดียวเท่านั้นที่จะนำเข้าเป็นส่วนกฐินทานได้ เมื่อจะเปลื้องผ้าออกทาน ตัวกิเลสคือความตระหนี่เหนียว
แน่นก็มากั้นไว้ถ้าสละผ้าผืนนั้นแล้วเราจะไหนนุ่ง มีอยู่ผืนเดียวเท่านี้ ผลที่สุดก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าเรา
จะต้องถวายแน่ ก็เปลื้องผ้ามาทำการซักฟอกและย้อมด้วยน้ำฝาดตนเองก็เอาใบไม้มานุ่ง ป้องกันความ
อายเท่านั้น แล้วรีบนำผ้าไปหาเศรษฐี มอบอนุโมทนาผ้านั้นเข้าเป็นส่วนบริวารของกฐินนั้น เศรษฐีก็รับ
อนุโมทนานำผืนของติณณปาละเข้าเป็นส่วนผ้าบริวาร ซึ่งยังขาดอยู่ผืนหนึ่งแล้วนำไปถวายแก่พระภิกษุ
สงฆ์

เสียงโกลาหลก็บังเกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยเสียงสาธุการของเทวดาทั่วทั้งอากาศและปฐพี พระมหากษัตริย์ได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว ก็ตกพระทัยกลัวว่าจะมีมรณภัยมาถึงพระองค์รับสั่งให้หาปุโรหิต
แล้วตรัสถามถึงเหตุโกลาหลอื้ออึงนั้น ในครั้งนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งที่รักษาอยู่เศวตฉัตรจึงกล่าวว่า ดูกร
มหาบพิตรเสียงโกลาหลอื้ออึ้งนั้น มิใช่ว่าจะมีภัยมาถึงพระองค์นั้นเป็นเสียงของเทวดาทั้งหลายในหมื่น
โลกธาตุได้สาธุการส่วนบุญของติณณปาละเป็นคนเข็ญใจ รักษาไร่หญ้าของเศรษฐี ได้เปลื้องผ้านุ่งของ
ตนออกมาเข้าส่วนกฐินทาน พระองค์อย่าตกพระทัยไปเลย พระราชาทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงปีติยินดี รับ
สั่งให้หาติณณปาละพร้อมทั้งส่งผ้าสาฏกคูหนึ่ง ราคาผืนละหนึ่งแสนกหาปณะไปพระราชทาน นาย
ติณณปาละก็นุ่งสาฎกเข้าเฝ้าพระราชา ครั้นพระราชาทรงขอซื้อส่วนกุศลด้วยทรัพย์มีประมาณพันหนึ่ง
จนทวีขึ้นเป็นลำดับจนถึงแสนกหาปณะ ติณณปาละ ก็ไม่ขายให้ตามพระประสงค์ได้จึงกราบทูล จะ
ทรงซื้อด้วยทรัพย์นั้นไม่ได้ พระเจ้าข้าถ้าหากพระองค์จะอนุโมทนาส่วนบุญนี้ได้อยู่
พระเจ้าข้า พระราชามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งให้คนดีฆ้องร้องประกาศตลอดทั้งพระนครแล้วพระราช
ทาน ช้าง ม้า โค กระบือ ข้าทาส ชายหญิงอย่างละหนึ่งร้อย บูชาแก่ติณณปาละเป็นอันมาก แล้วตั้งไว้
ในตำแหน่งเศรษฐีส่วนพ่อค้าคฤหบดีเศรษฐี ก็พากันสละทรัพย์เป็นจำนวนมากออกบูชาคุณติณณปาละ
เป็นสมบัติมากมาย ที่ติณณปาละได้แล้วก็ด้วยบุญกุศลเจตนาอันแรงกล้า จึงเป็นผลสำเร็จให้ผลทันตา
เห็นในปัจจุบันชาติ ครั้นติณณปาละทำกิริยาตายแล้ว ก็ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์

ครั้นถึงพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัส ติณณปาละเทวบุตร ก็จะจุติลงมาอุบัติเป็นราชโอรส แห่งนครมัณฑาลวดี ครั้นต่อมาเสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดา อยู่ ๔ หมื่นปีแล้วออกบวชเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา สำเร็จพระอรหันต์องค์หนึ่งของพระศรีอริยเมตไตรย์ มีนามว่าติณณปาละเถระ ดังนี้เป็นต้น ตสฺมา สาธโว เมื่อสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ทราบรู้เหตุรู้
ผลของการถวายผ้ากฐินทานว่ามีอานิสงส์อย่างไรแล้วก็ขออย่าให้ท่านทั้งหลายจงอย่าเป็นผู้ประมาท ใน
เมื่อถึงคราวกาลสมัยที่จะถวายก็ควรจะถวายก็ควรทำจะเป็น ของมากน้อยอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญอยู่
ว่าให้ทำและทำด้วยศรัทธาอย่างจริงจัง แล้วตั้งความปรารถนาของตนไว้ด้วยดี มิใช่ว่าทำเห็นแต่หน้าหา
ความศรัทธามิได้ ทรัพย์ที่เราสละไปก็จะไม่ได้ผลเต็มที่ ถ้าเราทำด้วยความเต็มใจแล้วถึงแม้จะน้อยก็
ย่อมมีอานิสงส์มากดังเรื่องติณณปาละ

-----------------

มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฏก กฐินขันธกะ ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับ ณ พระเชตวัน ครั้งนั้นภิกษุ ๓๐ รูป ชาวเมืองปาไฐยยะ (อยู่ ด้านทิศปัจฉิม ในแคว้นโกศล) เดินทางมาด้วยหวังว่าจะเฝ้าพระผู้มีภาค แต่มาไม่ทันเพราะเหตุใกล้วันเข้าพรรษา จึงพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างพรรษานั้น ไม่ผาสุก เพราะลำบากด้วยที่อยู่ในฐานะเป็นอาคันตุกะ และต่างก็มีใจรัญจวนถึงพระบรมศาสดา ด้วยคิดว่า แม้จะจากเมืองมาอยู่ ณ ที่ใกล้แล้ว ก็ยังมิได้ถวายบังคมเบื้องบาทมูลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาดังใจประสงค์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างก็รีบออกเดินทางมายังพระเชตวัน ในระหว่างทาง พื้นภูมิภาคยังเป็นหล่มเป็นโคลนเป็นตม เพราะยังไม่แห้งภิกษุทั้งหลายเหยียบย่ำมาตามทาง โคลนตมและน้ำตามหลุมตามบ่อเล็กน้อยก็กะฉูดขึ้นเปื้อนจีวรและร่างกาย ฝ่าแดดกรำฝน ทนความลำบาก จีวรผ้าเนื้อหยาบของภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำฝนน้ำโคลน ก็อุ้มน้ำไว้หนักอึ้ง ลำบากแต่ร่างกายยิ่งแล้วแต่พวกภิกษุทั้ง ๓๐ ก็พากันมาถึงพระเชตวัน ครั้นแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงปราศรัยตรัสความเป็นไปแล้ว ตรัสธรรมกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงดำริถึงความลำบากของภิกษุเหล่านั้น และเห็นว่ากฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญฺญาโต การกรานกฐิน นี้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทรงอนุญาตมา ดังนั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คือให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้เมื่อออกพรรษาแล้ว นางวิสาขา ได้ทราบพุทธานุญาต และได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก

คำว่า “ กฐิน “ มีความหมาย ๔ อย่าง คือ

๑) กฐินเป็นชื่อของกรอบไม้ ซึ่งทำเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวร อาจจะเรียกว่า “ สะดึง “ ก็ได้ เนื่องจากในสมัยพุทธกาล การทำจีวรให้มีรูปร่างลักษณะตามที่กำหนด ทำได้ยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้เพื่อเป็นแบบ ส่วนใหญ่นิยมเรียกผ้านุ่งว่า สบง, ผ้าห่มเรียกว่า จีวร ส่วนผ้าห่มซ้อนเรียกว่า สังฆาฏิ การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบนี้คือนำผ้าทาบลงไปกับแม่แบบ ตัดและเย็บ ย้อมโดยทำให้เสร็จในวันเดียว ซึ่งต้องอาศัยความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อทำเสร็จแล้วก็รื้อแม่แบบนั้นเก็บไว้ใช้งานในปีต่อไป การรื้อไม้แม่แบบนี้เรียกว่า “ เดาะ “ ดังนั้นคำว่า “ กฐินเดาะ “ หรือ “ เดาะกฐิน “ จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเก็บไว้ใช้ในกาลต่อไป

(๒) กฐินเป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายใช้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ , ภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้

(๓) กฐินเป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวันหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ให้มีผ้านุ่ง หรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนกับของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้ว กล่าวคำถวายในท่ามกลางคณะสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือการถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า ถ้าถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก

(๔) กฐินเป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้า และเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔

ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน

๑. จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้ กล่าวตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิต ว่าพระสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป แต่ภายหลังอรรถกถา กล่าวว่า ต้องมี ๕ รูป ขึ้นไป

๒. พระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ ๓ เดือน หากวัดนั้นมีจำนวนพระสงฆ์ไม่ครบ ๔ หรือ ๕ รูป ทางวัดสามารถนิมนต์พระจากวัดอื่นมาสมทบให้ครบจำนวนได้ แต่พระที่มาจากวัดอื่นไม่มีสิทธิรับกฐิน นอกจากเครื่องบริขารหรือปัจจัยที่เจ้าภาพถวายเท่านั้น

๓. การทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลาจำกัด คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

๔. ข้อควรทราบเกี่ยวกับกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับ เพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย คือมักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วยวาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นเป็นการผิดพระวินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์ จึงควรระมัดระวัง ทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดทำให้ถูกต้อง

ผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาที่ต้องการทอดกฐิน พึงปฎิบัติดังต่อไปนี้

๑. ในกรณีที่เป็นวัดราษฎร์ ต้องทำการจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว ต้องไปนมัสการสมภารเจ้าวัดนั้นว่าตนมีความประสงค์ จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้นเพื่อให้รู้ ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่นๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว เมื่อได้กราบเรียนเจ้าอาวาสแล้วต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสังฆการี กรมการศาสนา ขอเป็นกฐินพระราชทาน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะทำการจองได้

๒.เมื่อจองกฐินเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาออกพรรษาก็กำหนดให้แน่นอน ช่วยกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาร่วมในการกฐิน เมื่อถึงกำหนดวันทอดกฐินก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่กำลังศรัทธามากน้อย ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร และไตรคู่สวดอีก ๒ ไตร

๓. พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ โดยมากจัดงานเป็น ๒ วัน วันต้นคือวันที่ตั้งองค์พระกฐิน อาจจะเป็นที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ หรือจะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนอาจจัดให้มีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน รุ่งขึ้นเป็นวัดทอด ตามประเพณีนิยมถ้าไปทางบกก็มีขบวนแห่เดินตามกันไป มีทั้งแตรวงฟ้อนรำ เช่นเดียวกับการแห่งทางเรือ แต่สมัยนี้มักนิยมตั้งองค์กฐินที่วัดที่จะทอดเลยทีเดียว เช้ามาจัดเตรียมพิธี แล้วก็มีการเลี้ยงพระเพล จากนั้นก็ทำพิธีทอดกฐิน ซึ่งอาจจะเป็นเวลาใดของวันนั้นก็แล้วแต่เจ้าภาพและทางวัดจะช่วยกันกำหนด

การถวายผ้ากฐิน เมื่อพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐิน นั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ๓ จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้ายสายสิญจน์โยงผ้ากฐินเพื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ซึ่งคำถวายผ้ากฐินอย่างมหานิกายก็ว่า

“ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม “ (ว่า ๓ หน)
แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์

ส่วนคำถวายผ้ากฐินอย่างธรรมยุตติกนิกาย ก็ว่า

“ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา
จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายะ “
แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายแด่พระภิกษุสงฆ์ และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ

ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า "สาธุ "

เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ แล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีฝ่ายสงฆ์ อปโลกน์กฐิน หมายถึง การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบ ว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่าอะ ปะ โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่า จะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วจึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับเป็นสังฆกรรม

พิธีกรานกฐิน กรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ คือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้นนำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อมแห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้วภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวถึงเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ ครั้นแล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กราน ชุมนุมสงฆ์กล่าวอนุโมทนา ต่อแต่นั้นกราบพระ ๓ หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน
ประเภทของกฐิน


การทำบุญทอดกฐินในประเทศไทยเราได้แบ่งกฐินออกเป็น ๒ ประเภท คือ กฐินหลวง และกฐินราษฎร์

กฐินหลวง ได้แก่ กฐินที่ทำพิธีทอดถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา ณ พระอารามหลวงแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภท คือ

๑) กฐินเสด็จพระราชดำเนิน เป็นกฐินหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปพระราชทานถวายด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปทอดถวายแทน

๒) กฐินต้น เป็นกฐินส่วนพระองค์ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระราชทานแก่วัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ได้

๓) กฐินพระราชทาน เป็นกฐินหลวงที่โปรดพระราชทานให้แก่หน่วยงานข้าราชการ คฤหบดี พ่อค้า และประชาชน ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานผ้ากฐินนำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง แห่งใดแห่งหนึ่ง

กฐินราษฎร์ ได้แก่ กฐินที่ราษฎรผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายจัดนำไปทอดถวาย ณ วัดราษฎร์ทั่วไป นิยมแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑) มหากฐิน เป็นกฐินที่นิยมจัดเครื่องบริวารกฐินต่างๆ มากมาย

๒) จุลกฐิน เป็นกฐินน้อยหรือกฐินรีบด่วนเพราะมีเวลาจัดเตรียมการน้อย เป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันว่ามาแต่โบราณว่า มีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้น คือเก็บฝ้ายมากรอเป็นด้าย และทอให้แล้วเสร็จเป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ววิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวง ทำในวันกลางเดือน ๑๒ คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน ๑๒ อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐิน คงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่

ธงจระเข้ การที่ธงจระเข้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทอดกฐินนั้น ไม่ปรากฎหลักฐาน แต่มีพูด ๆ กันอยู่ ๒ ประเด็น คือ

๑. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐินมีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้นก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัง คงหวังจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว

๒. ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่พูดกันก็มาจากนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญ จึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม แล้วก็เลยถือเป็นการปฏิบัติมาจนทุกวันนี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น