วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๔)


พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๔)

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานการปฏิบัติตั้งสติ เพื่อให้สติตั้ง และเพื่อให้ได้ปัญญาหรือญาณความหยั่งรู้ใน กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐานในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นโพชฌงค์ในกาย เวทนา จิต ธรรม และเป็นญาณความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ในกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ที่จิตนี้เอง มิใช่ที่อื่น
สติก็ตั้งขึ้นที่จิต โพชฌงค์ที่เป็นตัวความรู้ก็ตั้งขึ้นที่จิต ญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ตั้งขึ้นที่จิต แม้ว่าจะมีศัพท์แสงธรรมะอยู่มากดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ผู้ปฏิบัติเมื่อได้ปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้ได้สติในลมหายใจ ให้เป็นสติปัฏฐานในลมหายใจ
เมื่อได้สติขึ้นมาใจรวมเป็นสมาธิ ก็จะได้ปัญญาขึ้นมาเป็นโพชฌงค์ และจะได้ญาณคือความหยั่งรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ขึ้นด้วยตนเอง
ความรู้เห็นที่เป็นกายสักขี
และหากได้อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแสงสว่างนำทาง ก็ยิ่งจะทำให้ได้สติปัฏฐาน ได้โพชฌงค์ ได้ญาณในอริยสัจจ์ ง่ายสะดวกขึ้นไปอีก และแม้ว่าจะได้ขั้นของธรรมดังกล่าว ถึงจะไม่ต้องรู้จักชื่อเสียง แต่ก็เป็นอันว่าได้ว่าถึง เหมือนอย่างเมื่อมีแสงสว่างส่องทาง และคนเดินทางก็มีตาลืมดูทาง ก็เดินไปตามทางที่แสงสว่างส่อง เห็นต้นไม้นานาชนิด มีดอกนานาชนิด ที่อยู่สองข้างทาง แม้จะไม่รู้จักว่าต้นไม้นี้ชื่อนั่น ต้นไม้นี้ชื่อโน่น แต่ก็รู้ก็เห็น เห็นต้น เห็นดอก เห็นใบ เป็นต้น โดยไม่ต้องรู้จักชื่อ ก็รู้ก็เห็น ดั่งนี้ เรียกว่าเป็น กายสักขี คือเป็นเหมือนอย่างเป็นสักขี พยานทางกาย มองเห็น ดั่งนี้แหละคือความรู้ความเห็นธรรมะ
แม้ว่าจะได้เล่าเรียนให้รู้จักชื่อเสียงของธรรมะ แต่ไม่ได้เดินไปในสวนของธรรมะเอง ถึงจะรู้จักว่ามีต้นไม้ชื่อนั้นชื่อนี้ ลักษณะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็สักแต่ว่ารู้ตามตำราเท่านั้น หรือตามที่ฟังมาเท่านั้น ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง บางทีเมื่อไปเห็นเข้าด้วยตนเองแล้ว ก็ไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำว่าชื่อต้นอะไร ตามที่ฟังมา ตามที่เรียนมา
ดั่งนั้น การปฏิบัติให้ได้สติ ได้โพชฌงค์ ได้ญาณในอริยสัจจ์ขึ้นมาด้วยตนเอง โดยตั้งต้นปฏิบัติ กำหนดจิตเข้ามากำหนดดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้แหละ ให้ได้สมาธิ และเมื่อได้สมาธิขึ้นแล้ว ความรู้ความเห็นจะเป็นไปเอง และก็เป็นดังกล่าวเมื่อได้มีความรู้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าช่วย ก็ยังจะทำให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติยิ่งขึ้น
ความสุขในการปฏิบัติธรรม ๔ ประการ
พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้รู้จักความสุข ซึ่งประสงค์ในการปฏิบัติธรรม และทรงสั่งสอนให้รู้จักวิมุติคือความหลุดพ้น ดังที่ได้ตรัสเรียกว่าเนกขัมมะสุข ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมะคือการออก ปวิเวกกะสุข ความสุขที่เกิดจากความสงัดสงบ อุปสมะสุข ความสุขที่เกิดจากความสงบรำงับ สัมโพธิสุข ความสุขที่เกิดจากความรู้พร้อม ดั่งนี้
อันความสุขที่ได้ตรัสชี้ไว้เหล่านี้ เพื่อความเข้าใจง่าย จึงได้ยกเอาคุณลักษณะแห่งความสุขนั้นกำกับไว้ด้วย เช่นที่ตรัสเรียกว่า เนกขัมมะสุข เป็นต้น ผู้ปฏิบัติธรรมะหากได้ตั้งใจฟัง และได้ทราบพระพุทธาธิบายตามสมควร ก็ย่อมจะมีความรู้สึกว่า แม้ว่ายังไม่สามารถจะได้พบกับเนกขัมมะสุข อย่างสมบูรณ์ได้ แต่ว่าก็จำที่จะต้องให้ได้ความสุขเช่นนี้ แม้น้อย เพราะว่าหากไม่ได้เสียเลยแล้ว จะไม่ได้รับความสุขอันแท้จริง ซึ่งเป็นผลอันประเสริฐสำหรับตนเองเลย
เนกขัมมะสุข
เนกขัมมะสุข ความสุขที่เกิดจากการออก ก็หมายถึงว่าออกจากเรื่องวุ่นวายทั้งหลาย อันเนื่องมาจากความกังวลพัวพัน เป็นต้น ซึ่งเรียกรวมว่ากิเลส แม้ว่าทุกคนผู้ที่ยังละกิเลสไม่ได้ ยังมีกิเลสอยู่ และไม่สามารถจะโยนทิ้งได้ เพราะอย่างไรๆ ก็ยังมีกิเลส แต่แม้เช่นนั้นถ้าหากว่าให้กิเลสครอบงำโดยไม่มีความว่างเว้นแล้ว ก็จะมีความกังวลห่วงใยยุ่งเหยิงสับสน หาความว่างมิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ แม้จะมีความบริบูรณ์สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินภายนอกต่างๆ แต่ว่าจิตใจของบุคคลเองนั้นไม่ได้รับความสุขอันแท้จริงเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องหัดปฏิบัติทำจิตใจ ให้ออกได้จากเครื่องกังวลผูกพันทั้งหลาย น้อยหรือมาก ไม่ยอมให้เรื่องทั้งหลายเข้ามาผูกพัน รึงรัด ครอบงำ เสียจนหาความว่าง ความสบาย ความสงบ ใดๆ มิได้
นิยานิกธรรม
เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ นำตนออกจากเครื่องผูกพันห่วงใยเป็นต้นเหล่านี้ไปโดยลำดับ ธรรมะที่ทรงสั่งสอนจะเป็นขั้นทานก็ตาม ขั้นศีลก็ตาม ขั้นภาวนาคือสมถะวิปัสสนา หรือสมาธิปัญญาก็ตาม ทุกข้อทั้งหมดทุกบทย่อมเป็นการสั่งสอนที่นำออกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบท จึงเป็นการปฏิบัตินำออกไปจากเครื่องผูกพันอาลัยห่วงใย รวมเข้าก็คือว่าออกจากกิเลสและกองทุกข์เป็นเปลาะๆ เป็นเรื่องๆ ไปโดยลำดับ และเมื่อเป็นดั่งนี้ ปฏิบัติตนออกไปได้เท่าใด ก็จะทำให้ได้ความสุขเท่านั้น ออกได้มากก็ได้ความสุขมาก ออกได้น้อยก็ได้ความสุขน้อย เพราะฉะนั้น ความสุขที่เกิดจากการออกดั่งนี้คือ เนกขัมมะสุข และเมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นสุขสำหรับทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นพระไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชายไม่ว่าจะเป็นหญิง ก็จะต้องมีการปฏิบัติออกไปได้ จึงจะได้ความสุขอันแท้จริง ดั่งนี้คือ เนกขัมมะสุข
เพราะฉะนั้น ธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้เรียกว่า นิยานิกธรรม ธรรมะที่เป็นเครื่องนำออกไป คือนำออกไปจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีที่จะนำเข้ามาสู่กิเลสและกองทุกข์เลยสักข้อเดียว เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะที่เป็นนิยานิกธรรมนี้ จึงได้การออกไปจากกิเลสและกองทุกข์ เป็นเรื่องๆ เป็นข้อๆ เป็นเปลาะๆ ไปโดยลำดับดั่งนี้คือ เนกขัมมะสุข
ปวิเวกกะสุข
และแม้สุขอื่น อันที่จริงก็มีอรรถคือเนื้อความเป็นอันเดียวกันนี่แหละ แต่ว่าแยกเรียกว่า ปวิเวกกะสุข ความสุขที่เกิดจากความสงัด
ก็คือหมายความว่าทำตนให้สงัดสงบจากเครื่องพัวพันทั้งหลาย จากการคลุกคลีทั้งหลาย เพราะว่าการที่จะออกไปได้นั้นก็จะต้อง ทำตนให้สงบสงัดจากการคลุกคลีทั้งหลายด้วย ถ้าหากว่ายังมีการคลุกคลีอยู่ด้วยเรื่องนั้นๆ ด้วยสิ่งนั้นๆ ก็ยังออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องไม่คลุกคลีอยู่ด้วยสิ่งนั้นๆ ด้วยเรื่องนั้นๆ ตลอดจนถึงด้วยบุคคลนั้นๆ ในทางที่ก่อให้เกิดความกังวลห่วงใย ให้เกิดกิเลสให้เกิดความทุกข์ต่างๆ
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก
เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้มีแสดงถึง กายวิเวก ความสงัดทางกาย จิตตวิเวก ความสงัดทางจิตใจ อุปธิวิเวก ความสงัดกิเลส ไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถปฏิบัติตนไม่ให้คลุกคลี แต่ให้ได้พบกับความสงัดสงบดังกล่าว ก็เป็นอันว่าออกได้ และก็ได้ความสุขที่แยกชื่อเรียกได้อีกว่า ปวิเวกกะสุข ความสุขที่เกิดจากความวิเวก คือความสงัดสงบ
อุปสมะสุข
อนึ่ง ยังเรียกชื่ออย่างอื่นได้อีก แต่ก็มีอรรถคือความก็เป็นทางเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน คือ ความสงบรำงับ เพราะว่า เมื่อมีความสงบรำงับ หรือปฏิบัติให้จิตใจสงบระงับได้ คือให้โลภโกรธหลงสงบระงับลงได้ หรือว่าราคะโทสะโมหะสงบระงับลงได้ น้อยหรือมาก ก็จะทำให้ความคลุกคลีลดลง จะทำให้การผูกพันลดลง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการปฏิบัติกายวาจาใจนี่แหละ ให้สงบกาย สงบวาจา สงบใจ โดยตรงก็คือว่าต้องคอยสงบรำงับ ราคะ โทสะ โมหะ หรือว่า โลภ โกรธ หลง สงบระงับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะโทสะโมหะ หรือว่าโลภโกรธหลง เหล่านี้ด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะได้ความสงบระงับทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งทำให้เกิดความสุข อันเรียกว่า อุปสมะสุข สุขที่เกิดจากความสงบรำงับ
ซึ่งความสงบนี้เองพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนว่าเป็นเหตุให้เกิดความสุข ที่ไม่มีสุขอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า ในพุทธภาษิตที่เราทั้งหลายก็ทราบกันอยู่โดยมาก ว่าความสุขที่ยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี หรือว่าความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง ดั่งนี้
สัมโพธิสุข
และในบรรดาการปฏิบัติเหล่านี้ การปฏิบัติให้ได้ปัญญาที่เป็นตัว สัมโพธิ คือความรู้พร้อม ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงละกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นได้ก็เพราะพระสัมโพธิปัญญา ปัญญาคือความตรัสรู้พร้อม เพราะฉะนั้นจึงละกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมด สัมโพธิคือความรู้พร้อมนี้เป็นตัววิชชาความรู้แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง และโดยตรงก็คือความรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
สัจจะที่เป็นตัวความจริงนี้ ซึ่งเป็นอย่างยิ่งก็คืออริยสัจจ์ เพราะทำให้ผู้รู้ละกิเลสและกองทุกข์ เป็นอริยบุคคล บุคคลผู้ประเสริฐได้ ก็คืออริยสัจจญาณ ความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง อันเป็นหลักสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา และเมื่อได้ปัญญาละกิเลสได้ ก็ได้ความสุข ( เริ่ม ๓/๒)อันเป็นความสุขอย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้ปัญญาละกิเลสได้ก็จะทำให้ได้ความสงบระงับ ซึ่งเรียกว่า อุปสมะ ได้ความสงัดกาย สงัดจิต สงัดกิเลส ทั้งหมด อันเรียกว่า ปวิเวกะ ได้ เนกขัมมะ คือการออกทั้งหมด ออกจากกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นสัมโพธิสุข ความสุขที่เกิดจากความรู้พร้อมนี้จึงเป็นข้อสำคัญ เหล่านี้เป็นความสุขอันแท้จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เอง และทุกๆ คนที่จะได้ความสุขอันแท้จริงนั้น ก็จะต้องมีส่วนได้ความสุขเหล่านี้ แม้น้อยก็ตาม คือว่าจะต้องได้ความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติให้ออกได้ ไม่ให้ติดขัดอยู่ในเครื่องผูกพันทั้งหลาย ปฏิบัติให้สงัดกายสงัดจิตสงัดกิเลสได้ ปฏิบัติให้สงบรำงับ
โดยตรงก็คือสงบระงับโลภโกรธหลง หรือว่าราคะโทสะโมหะได้ ปฏิบัติให้ได้ปัญญาที่เป็นตัวรู้หยั่งลงถึงในสัจจะที่เป็นความจริง อันขจัดกิเลสและกองทุกข์ได้ น้อยหรือมาก และเมื่อได้น้อยก็ได้ความสุขอันแท้จริงน้อย ได้มากก็ได้ความสุขอันแท้จริงมาก
วิมุติสุข
และบรรดาสุขเหล่านี้ อีกคำหนึ่งก็คือ วิมุติสุข ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้น เพราะว่าเมื่อออกได้ก็เป็นอันว่าพ้นได้ เมื่อสงัดได้ก็เป็นอันว่าพ้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อสงบระงับได้ก็เป็นอันว่าพ้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อมีปัญญาที่รู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็ทำให้พ้นได้เช่นเดียวกัน คือทำให้พ้นได้จากเครื่องติดขัดทั้งหลาย จากเครื่องผูกพันทั้งหลาย จากพันธนาการทั้งหลาย ให้พ้นได้จากความคลุกคลีทั้งหลาย ให้พ้นได้จากโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะ ให้พ้นได้จากกิเลสและกองทุกข์ น้อยหรือมาก ความพ้นเหล่านี้ก็คือวิมุติ และเมื่อพ้นได้เท่าใดก็เป็นสุขเท่านั้น ดั่งนี้ก็เป็นวิมุติสุข
พระพุทธเจ้าได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้เองว่า ทรงอยู่ด้วยวิชชาวิมุติ วิชชาก็คือรู้ วิมุติก็คือพ้น รวมกันเข้าก็คือรู้พ้น ทรงอยู่ด้วยความรู้พ้น ทรงรู้ทุกๆ อย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ ซึ่งรูปทั้งหลาย ซึ่งเสียงทั้งหลาย ซึ่งกลิ่นทั้งหลาย ซึ่งรสทั้งหลาย ซึ่งโผฏฐัพพะทั้งหลาย ซึ่งเรื่องราวทั้งหลาย และทรงรู้ได้มากยิ่งกว่าสามัญชนทั่วไป เพราะทรงรู้อดีตรู้อนาคตรู้ปัจจุบันยืดยาวกว้างขวาง แต่ว่ารู้เท่าใดก็พ้นเท่านั้น ไม่เก็บเอามาเป็นพันธนาการผูกพัน ไม่คลุกคลี และไม่วุ่นว่าย และไม่หลง
เพราะฉะนั้น จึงทรงมีความรู้พ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งปวง เมื่อเรียกเป็นศัพท์แสงก็เรียกว่า วิชชาวิมุติ วิชชาคือรู้ วิมุติคือพ้น พูดอย่างธรรมดาก็คือว่ารู้พ้น ไม่ใช่รู้ติด ไม่ใช่รู้ผูกพันเป็นต้น แต่เป็นรู้พ้น
รู้มากที่สุด รู้อดีตไกลที่สุด รู้อนาคตไกลที่สุด รู้ปัจจุบันทั่วหมด แต่ว่าพ้นหมด ไม่มีติดข้อง ไม่มีกังวล ไม่มีที่จะพันธนาการในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงพบกับความสุขที่สมบูรณ์ไม่มีบกพร่องเป็นวิมุติสุข
สุญญตา
อาการของความสุขดังกล่าวมานี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสุญญตาความว่างนั้นเอง คือว่าว่างจากกิเลส ว่างจากกองทุกข์ เพราะว่าออกได้ เพราะว่าสงัดได้ไม่คลุกคลี เพราะว่าสงบระงับได้ เพราะว่ารู้พ้น คือไม่รู้หลงไม่รู้ยึดทุกๆ อย่าง จึงเป็นความว่าง ว่างกิเลส ว่างทุกข์ทั้งหมด ยกเอากายขึ้นมาว่าก็คือว่ากายว่าง ยกเอาวาจาขึ้นมาว่าก็คือวาจาว่าง ยกเอาใจจิตขึ้นมาว่า ก็ว่าใจว่างจิตว่าง กายวาจาจิตใจว่าง ว่างกิเลสและกองทุกข์ทั้งหมด ว่างด้วยความรู้พ้น ไม่ใช่ว่างด้วยความไม่รู้ หรือความรู้หลง แต่ว่าว่างด้วยความรู้พ้น ดั่งนี้ คือว่าใจว่าง หรือจิตว่าง หรือว่าความว่าง อันเป็นตัวสุญญตา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงทางให้บรรลุถึงความว่างดังกล่าวนี้ ตั้งต้นแต่การปฏิบัติตนไม่ให้คลุกคลีอยู่ด้วยบุคคล หรือว่าอยู่ด้วยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือว่าที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย อันความคลุกคลีอยู่ด้วยเรื่องราว หรือด้วยบุคคลดังกล่าวมานี้ ไม่ใช่หมายความว่าอยู่กับใครๆ ไม่ได้ อยู่ในบ้านในเมืองไม่ได้ แต่หมายความว่าความรู้จักที่จะปฏิบัติทำจิตใจให้รู้จักออก ให้รู้จักสงัด ให้รู้จักสงบรำงับ ให้รู้จักรู้ปล่อย รู้วาง รู้พ้นนั้นเอง
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว แม้จะอยู่ในบ้าน อยู่ในเมือง อยู่ในป่า อยู่ในที่ไหนก็ตาม ตลอดจนถึงมาประชุมกันฟังธรรมปฏิบัติธรรมในที่นี้ ก็มาอยู่ด้วยกันจำนวนมาก ดั่งนี้ไม่เรียกว่าคลุกคลี เพราะว่าไม่ใช่เป็นการมาก่อกิเลส และก่อกองทุกข์อย่างใดๆ ทั้งสิ้น
มาร่วมกันฟังมาร่วมกันปฏิบัติธรรมะ เพื่อที่จะออก เพื่อที่จะสงัด เพื่อที่จะสงบระงับ เพื่อที่จะรู้พ้นตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ไม่ใช่คลุกคลี แต่ที่เรียกว่าคลุกคลีด้วยบุคคล ด้วยหมู่คณะ ด้วยสิ่งทั้งหลายนั้น หมายความว่าคลุกคลีในทางสร้างกิเลสและกองทุกข์ให้บังเกิดขึ้นในทางต่างๆ ดั่งนี้
เริ่มปฏิบัติด้วยเว้นการคลุกคลี
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติเว้นการคลุกคลีดังกล่าว โดยที่ได้ทรงแสดงชี้ให้เห็นว่าบรรดาสิ่งทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่นรูป อันหมายรวมถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐัพพะ ถึงธรรมะคือเรื่องราวทั้งปวง ซึ่งประสบพบพาน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ มนะ คือ ใจ
ยกเอารูปขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีความยินดีติดอยู่ รูปที่ยินดีติดอยู่เหล่านี้ ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้เกิดความโศก ความปริเทวะ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ นั้นหามีไม่ เพราะเหตุว่ารูปทั้งปวงนั้นจะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นเมื่อมีความผูกพันยินดีติดอยู่ ครั้นสิ่งที่ผูกพันนั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีความทุกข์ต่างๆ จึงไม่พ้นทุกข์ไปได้ ดั่งนั้น จึงไม่ควรที่จะคลุกคลี ผูกพัน หัดปฏิบัติที่จะนำจิตใจออกไปได้ สงัดได้ สงบระงับได้ และข้อสำคัญนั้นให้รู้จักทำใจให้รู้พ้น ให้รู้ปล่อย ให้รู้วางได้ตามสมควร และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะได้พบกับสุญญตาคือความว่างดังที่กล่าวมานั้น อันเป็นเหตุให้บังเกิดความสุขที่แท้จริง สุดแต่ที่จะปฏิบัติได้เพียงไร
พระบรมศาสดาเองก็ได้ทรงเข้าถึงสุญญตาคือความว่างนี้ เพราะไม่ทรงใส่พระทัยถึงนิมิตอะไรๆ อันหมายความว่าถึงจะทรงเห็นอะไร ทรงได้ยินอะไรเป็นต้น ซึ่งรูปซึ่งเสียงทั้งหลายเป็นต้น
แต่ก็ไม่ผูกพันยึดถือทั้งหมด หรือว่ายึดถือบางส่วน ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ สิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้นก็พ้นไปๆ พระองค์จึงอยู่กับสุญญตาคือความว่าง และเมื่อว่างกิเลส ว่างยินดี ว่างยินร้าย ว่างความยึดถือ ก็เป็นอันว่าว่างทุกข์ด้วย
เพราะฉะนั้นจะมีใครมาเฝ้าก็ตาม จะเป็นบริษัท ขัตติยะบริษัท พราหมณ์บริษัท  แพศย์บริษัท ศูทรบริษัท ใครๆ ก็ตามทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ธรรมะที่ทรงสั่งสอนทั้งปวงนั้น จะเป็นข้อไหนบทไหนก็ตาม จึงเป็นนิยานิกธรรม ธรรมะที่นำออกทั้งหมด ออกจากกิเลส ออกจากกองทุกข์ทั้งหมด ไม่มีที่จะสั่งสอนนำเข้ามาสู่กิเลสสู่กองทุกข์ เพราะว่าพระองค์ทรงอยู่ด้วยสุญญตา คือความว่าง เพราะไม่ใส่ใจในนิมิตทั้งหมด ตลอดเวลาก็ทรงอยู่ด้วยความรู้พ้นดังที่ตรัสแสดงนั้น
ข้อปฏิบัติให้มีอารมณ์อันเอก
เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงสั่งสอนต่อไปว่า เมื่อต้องการจะเข้าถึงสุญญตาคือความว่างดั่งนี้ ก็ให้ปฏิบัติทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ให้นั่งสงบอยู่ในภายใน และในการปฏิบัติดั่งนี้ จะปฏิบัติทางสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ทั้งนั้น เพราะเมื่อมาตั้งสติกำหนดในสติปัฏฐาน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ทุกข้อทุกบท ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ทำจิตให้ตั้งสงบอยู่ในภายในทั้งนั้น ให้นั่งสงบอยู่ในภายในทั้งนั้น ให้มีอารมณ์อันเอกคืออันเดียวผุดขึ้นทั้งนั้น คือให้ใจเป็นหนึ่งทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อได้ดั่งนี้แล้ว ก็จะได้สุญญตาคือความว่างขึ้นไปโดยลำดับ และเมื่อได้สมาธิที่ดีขึ้นๆ ก็จะได้ขึ้นไปจนถึงขั้นฌานโดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น